หน้าหลัก > ข่าวสารและความรู้ > 8 สัญญาณอันตรายเสี่ยง "โรคหัวใจ"
8 สัญญาณอันตรายเสี่ยง "โรคหัวใจ"
8 สัญญาณอันตรายเสี่ยง "โรคหัวใจ"
18 Nov, 2023 / By aomsin
Images/Blog/3w7IMJeV-252621.jpg

"โรคหัวใจ" เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ทั้งปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่นกรรมพันธุ์ อายุ เพศ และปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น การออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน รวมไปถึงพฤติกรรมการ บริโภคอาหาร ดังนั้นผู้ป่วยโรคหัวใจควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการบริโภคอาหารและการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคอื่นๆ แทรกซ้อนได้

วันนี้เวลพาโน่มาแชร์บทความ 8 สัญญาณอันตรายเสี่ยง “โรคหัวใจ” มาฝากกันค่ะ จะมีอาการอย่างไร สาเหตุจากอะไรบ้าง ไปติดตามได้เลยค่ะ

สาเหตุของโรคหัวใจ
สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจมาจากหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องของกรรมพันธุ์ เพศ อายุที่มากขึ้น หรือแม้แต่การใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวัง ทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ เครียดสะสม การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ ทั้งนี้ สามารถแบ่งชนิดของโรคหัวใจได้ 6 ประเภท คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคเยื่อหุ้มหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาการแสดงและแนวทางในการรักษาโรคหัวใจแต่ละประเภทก็จะมีความแตกต่างกัน

8 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหัวใจ” 
สัญญาณเตือนว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ คือ
1. มีอาการเหนื่อยง่าย
2. หายใจลำบากเวลาออกกําลังกายหรือเดินเร็วๆ
3. มีอาการเจ็บหน้าอก หรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก
4. ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยและอึดอัด
5. มีอาการหอบ จนต้องตื่นขึ้นมานั่งกลางดึก
6. เป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ  
7. มีอาการขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ  
8. ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
▶️ ผู้ที่สูบบุหรี่ 
▶️ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
▶️ ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
▶️ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
▶️ ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกินปกติ
▶️ ผู้ที่มีความเครียดสะสม
▶️ ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
▶️ สตรีหลังหมดประจำเดือน
▶️ สตรีที่ทานยาคุมกำเนิด
▶️ ผู้ที่รับประทานอาหารเค็มจัด

อย่างไรก็ดี “โรคหัวใจ” เป็นโรคที่สามารถป้องกันและลดการเกิดการสูญเสียได้ ซึ่งวิธีการป้องกันก่อนการเกิดโรคเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ พยายามรักษาโรคความดันโลหิต การรักษาโรคเบาหวาน ไขมัน หลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมให้เป็นโรคหัวใจได้มากขึ้น รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคด้วยการหมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น

 

Like